ปัญหาการจดทะเบียนที่ต้องแก้ไข

1. ถาม  ผู้ขอฯ ได้สอบถามว่า เมื่อยื่นคำขอเครื่องหมายการค้าทางอินเตอร์เน็ตแล้วทำไมจะต้องนำส่งต้นฉบับของเอกสาร  และจะมีประโยชน์อะไรกับการยื่นทางอินเตอร์เน็ตแล้วต้องมายื่นเอกสารที่กรมฯ
ตอบ   - การยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า  หรือผู้ประกอบการ ให้ได้รับเลขคำขอก่อน  ซึ่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าได้กำหนดไว้ว่าผู้ใดยื่นก่อน ผู้นั้นย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่า
        - เนื่องจากการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาเพื่อจะคุ้มครองสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งสิทธิดังกล่าวสามารถจำหน่าย หรือโอนความเป็นเจ้าของได้  ซึ่งการดำเนินการตามเจตนาของผู้ขอฯ ดังกล่าวต้องพิจารณาถึงลายมือชื่อของผู้ขอฯ  จึงจำเป็นต้องให้ผู้ยื่นคำขอ     นำส่งต้นฉบับของเอกสารนั้น  แต่กรมฯ กำลังพิจารณาว่าจะนำเรื่องลายเซ็นอิเลคโทรนิคมาใช้บังคับในอนาคตอาจไม่ต้องส่งเอกสาร 

2. ถาม  ในกรณีที่ผู้ขอได้ยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตและมีการชำระเงิน  ถ้าผู้ขอฯ ไม่มารับใบเสร็จรับเงิน กรมฯ  จะต้องดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ขอฯ หรือไม่
ตอบ      ผู้ขอฯ ที่ชำระเงินในการยื่นคำขอทางอินเตอร์เน็ตต้องมารับใบเสร็จรับเงินที่กรมฯ  หากผู้ขอฯ ไม่มารับกรมฯ ต้องดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ขอฯ

3. ถาม   หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนฉบับภาษาอังกฤษ  อยากถามว่าหากผู้ขอฯ ประสงค์จะให้กรมฯ  เพื่อแปลรายการสินค้าเป็นภาษาอังกฤษได้หรือไม่
ตอบ      ไม่สามารถแปลรายการสินค้าเป็นภาษาอังกฤษให้ได้   เนื่องจากรายการสินค้าไม่มีในแบบหนังสือ รับรอง  แต่สำนักเครื่องหมายได้เพิ่มให้  อีกทั้งผู้ขอสามารถแปลเองได้  พร้อมรับรองคำแปล

4. ถาม   กรณีที่ผู้ขอฯ ได้ยื่นคำขอเครื่องหมายการค้าเป็นรูปสี  แต่เมื่อได้รับจดทะเบียนแล้วปรากฏว่าได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนโดยรูปเครื่องหมายเป็นรูปขาว-ดำ  อยากทราบว่ากรมฯ จะสามารถออกหนังสือสำคัญฯ ฉบับที่เป็นรูปสีได้หรือไม่
ตอบ      เนื่องจากปัจจุบันหมึกพิมพ์สีได้หมดลง  จึงได้ออกหนังสือสำคัญฯ โดยรูปเครื่องหมายการค้าเป็นรูปขาว-ดำ  ซึ่งรูปขาว-ดำ ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกันกับรูปสี  และขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการ ดำเนินการจัดหาซื้อหมึกพิมพ์สีเพื่อในมาใช้งานได้เช่นเดิมต่อไป

5. ถาม  รูปภาพที่มีอยู่ทั่วไปตามไฟล์  หรือ WEBSITE  ต่างๆ  (ดังรูปภาพ)  ผู้ขอฯ สามารถจะนำรูปภาพ เพื่อมาประกอบในเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนได้หรือไม่

                                  
trend-pic1.jpg
                          








ตอบ
   รูปภาพดังกล่าว เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ หากผู้ใดสร้างสรรค์ บุคคลนั้นย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีผู้ อื่นนำไปใช้  เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับความเสียหายสามารถดำเนินคดีกับบุคคลที่ละเมิดได้ตามพระ ราชบัญญัติลิขสิทธิ์  พ.ศ.2537  และเครื่องหมายที่นำรูปเช่นนี้มาใช้  เมื่อมีการนำสืบพิสูจน์ทางศาล      เครื่องหมายนั้นจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียนในภายหลังได้

6. ถาม  เครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7  ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง
ตอบ   เครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7  พิจารณาได้เป็น 2 กรณีคือ
        1.   กรณีที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว  นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน  เพราะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7  ผู้ขอฯ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ได้ ตามมาตรา 18  แห่ง พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

       2.  เจ้าของอาจยื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้  หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่  หรือมีการโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นจนแพร่หลายแล้ว  ตามหลักเกณฑ์ประกาศกระทรวงพาณิชย์  เรื่องการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรค 3  แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า  ลงวันที่   12 มีนาคม  2546

7. ถาม  เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเครื่องหมายการค้าแล้วเห็นว่า  เครื่องหมายการค้ามีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ  ให้ผู้ขอฯ  นำหลักฐาน นำสืบความบ่งเฉพาะ  นายทะเบียนมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร
ตอบ   หลักเกณฑ์ในการพิจารณาหลักฐานนำสืบ การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรค 3     ประกอบด้วย
      1. สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้น  มีการจำหน่าย เผยแพร่  หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาพอสมควร  จนทำให้สาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าว  แตกต่างไปจากสินค้าหรือบริการอื่น
      2. การจำหน่าย  เผยแพร่  หรือโฆษณาสินค้าหรือบริการใด จนทำให้เครื่องหมายมีความแพร่หลายในประเทศไทย  ให้ถือว่าเครื่องหมายการค้ามีลักษณะบ่งเฉพาะเพียงที่ใช้กับสินค้าหรือบริการนั้นเท่านั้น
      3. เครื่องหมายที่จะพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามประกาศนี้จะต้องเป็นเครื่องหมายเดียวกันกับเครื่องหมายที่ยื่นขอจดทะเบียน

หลักฐาน    เกี่ยวกับการจำหน่าย  เผยแพร่  โฆษณาซึ่งสินค้าหรือบริการ เช่น   สำเนาใบเสร็จค่าราคาสินค้า,  ค่าโฆษณา  สำเนาใบสั่งของ  สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า  สำเนาอนุญาตตั้งโรงงาน  หลักฐานการโฆษณาในสื่อต่างๆ  รวมทั้งพยานบุคคล  เป็นต้น

8. ถาม  การเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เกิดขึ้นในกรณีใดบ้าง          
ตอบ  การเพิกถอนเครื่องหมายการค้า  ผู้มีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียน มีดังนี้
          1. นายทะเบียน  (ตามมาตรา 55 วรรค 2, มาตรา 57, มาตรา 58 และมาตรา 59 วรรคแรก)
          2. คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (ตามมาตรา 61, มาตรา 62 และมาตรา 63)
          3. ศาล (ตามมาตรา 66 และมาตรา 67)

            1. การเพิกถอนโดยนายทะเบียน  ในกรณี
                1.1 เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง  เรื่องการยื่นขอต่ออายุ  (มาตรา 55 วรรค 2)
                1.2    เจ้าของเครื่องหมายการค้าร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายของตนเองได้  (มาตรา 57)
                1.3    เจ้าของเครื่องหมายการค้าฝ่าฝืน มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข  หรือข้อจำกัด ที่นายทะเบียนกำหนดในการรับจดทะเบียน (มาตรา 58)
                1.4    สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า  รายที่เจ้าของเครื่องหมายการค้า หรือตัวแทนเลิกตั้งสำนักงาน  หรือสถานที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย (มาตรา 59 วรรคแรก)
            2. การเพิกถอนโดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า                2.1    ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการฯ สั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้  หากแสดงได้ว่า เครื่องหมายการค้านั้น ขณะที่จดทะเบียนไม่ได้เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 หรือ ต้องห้ามตามมาตรา 8  (มาตรา 61)
                2.2    บุคคลใดเห็นว่าเครื่องหมายการค้าขัดต่อความสงบเรียบร้อย  หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือรัฐประศาสโนบาย  บุคคลนั้นอาจร้องขอต่อคณะกรรมการฯ ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าได้  (มาตรา 62)
                2.3    ผู้มีส่วนได้เสีย  หรือนายทะเบียนร้องขอต่อคณะกรรมการฯ  หากพิสูจน์ได้ว่า
                        - ขณะที่ขอจดทะเบียน  เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้ตั้งใจโดยสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่ได้จดทะเบียนได้
                       - ในระหว่าง 3 ปี  ก่อนมีคำร้องขอให้เพิกถอน  ไม่ได้มีการใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริตสำหรับสินค้าที่จดทะเบียนไว้ (มาตรา 63)

            3.การเพิกถอนโดยศาล
                3.1     ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนร้องขอต่อศาล  หากแสดงได้ว่า ขณะที่ร้องขอ  เครื่องหมายการค้านั้นกลายเป็นสิ่งสามัญในการค้าขาย  สำหรับสินค้าบางจำพวก  เครื่องหมายการค้านั้นสูญเสียความหมายของการเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว  (มาตรา 66)
                3.2    ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียน  ผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอต่อศาล  หากแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ  (มาตรา 67)

9. ถาม   ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า  ให้ผู้ขอปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนโดยได้กำหนดระยะเวลาไว้  มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ขอฯ ละทิ้งคำขอจดทะเบียนนั้น  หากผู้ขอฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้  หรือผู้ขอจดทะเบียนมาขอปฏิบัติตามคำสั่งเมื่อล่วงเลยระยะเวลาที่    กำหนดไปแล้ว  นายทะเบียนต้องจำหน่ายคำขอนั้นโดยถือว่าผู้ขอฯ ละทิ้งคำขอเสมอไปหรือไม่  หรืออยู่ในดุลพินิจของนายทะเบียนที่จะสั่งให้จำหน่ายคำขอนั้นๆ
ตอบ  การจำหน่ายคำขอจดทะเบียน  ต้องพิจารณาว่ากฎหมายได้บัญญัติไว้ให้จำหน่ายคำขอหรือไม่
            กรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้   ว่า ให้ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนดไว้    มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ขอฯ ละทิ้งคำขอจดทะเบียน  ดังนั้น  ถ้าครบกำหนดแล้วผู้ขอฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง  หรือผู้ขอฯ  ได้มาปฏิบัติตามคำสั่งในภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาแล้ว (เกินกำหนดเวลา)  นายทะเบียนก็จะต้อง จำหน่ายคำขอนั้นๆ
            หมายเหตุ แต่ในกรณีที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ให้จำหน่าย  นายทะเบียนก็ไม่สามารถจำหน่ายคำขอนั้นได้  แต่นายทะเบียนจะสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาสั่งการในเรื่องอื่นตามขั้นตอนต่อไป  เช่น  เรื่องการโอน  ซึ่งนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้ผู้ขอฯ ส่งหลักฐานประกอบการพิจารณาโดยได้กำหนด   เวลาไว้  แม้ผู้ขอจะไม่นำส่งหลักฐานภายในกำหนด  นายทะเบียนก็ไม่สามารถจำหน่ายคำขอนั้นๆ ได้  ทำได้เพียงไม่อนุญาตโอนเท่านั้น  เป็นต้น
            สรุป   การจะจำหน่ายคำขอจดทะเบียน  หรือใช้ดุลพินิจที่จะจำหน่ายคำขอจดทะเบียนต้องพิจารณาหลักกฎหมายประกอบเป็นเรื่องๆ ไป

10. ถาม   กระบวนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า  สามารถกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนได้หรือไม่
ตอบ    ขั้นตอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
                                                 
                        trend-pic2.jpg                                














ทั้งนี้
  หากผู้ขอฯ รายใดมีความจำเป็นเร่งด่วน  ประสงค์จะให้ดำเนินการกับคำขอนั้นๆ โดยรวดเร็ว ให้มีหนังสือแจ้งความประสงค์พร้อมด้วยเหตุผลได้

11ถาม  ครบกำหนดเวลาประกาศโฆษณาฯ  ผู้ขอฯ มอบหมายให้ตัวแทนมารับหนังสือไปชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียน  เพื่อจะขอให้นายทะเบียนออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนในวันเดียวกัน ที่  “one  stop”  เหตุใดตัวแทนจึงไม่สามารถรับหนังสือสำคัญฯ จากนายทะเบียนได้
ตอบ   เนื่องจากหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน  เป็นเอกสารทางราชการและเป็นเอกสารสำคัญ  ซึ่งการจะรับหนังสือสำคัญฯ ดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลที่มีอำนาจรับ ดังนี้
                    1.  เจ้าของเครื่องหมายการค้า
                    2.  ตัวแทน (ต้องมีหนังสือมอบอำนาจในแฟ้มคำขอ)
                    3.  หากเป็นบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการแทน   (นอกจากบุคคลตามข้อ1.,2)  ต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอาการแสตมป์ 10 บาท และถ่ายบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจด้วย

12. ถาม  กรณีที่ ได้ชำระค่าธรรมเนียมผิดพลาด  ผู้ขอฯ สามารถขอคืนค่าธรรมเนียมได้ที่ไหน  ใช้ระยะเวลา นานเท่าใด
ตอบ   - กรณีที่เจ้าหน้าที่ได้มีคำสั่งให้ผู้ขอชำระค่าธรรมเนียมโดยได้สั่งผิดพลาด  และผู้ขอฯ ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง  แสดงให้เห็นว่าการผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ดังนั้น  ผู้ขอฯ  สามารถขอคืนค่าธรรมเนียมได้  โดยให้ผู้ขอทำหนังสือชี้แจงพร้อมด้วยเหตุผลการขอคืนเงินค่าธรรมเนียม  เพื่อกรมฯ จะได้พิจารณาและดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมให้ผู้ขอฯ ต่อไป          
         -ส่วนระยะเวลานั้นไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน  เนื่องจากบางกรณีต้องพิจารณาและอาจให้ผู้ขอฯ ส่งหลักฐานเพิ่มเติม

13. ถาม    การเปลี่ยนเจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้ขอฯ  ต้องปฏิบัติอย่างไร  ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่
ตอบ  ถ้าผู้ขอฯ  ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของเครื่องหมายการค้าจะต้องโอนเครื่องหมายการค้า
       1.1 แบบคำขอ ใช้แบบคำขอโอนหรือรับมรดกสิทธิ (ก.04)
       1.2 เอกสารหลักฐาน
    - หนังสือสัญญาโอน (ก.13)
    - บัตรประจำตัวของผู้โอนและผู้รับโอน
             กรณีผู้ขอเป็นบุคคลธรรมดา ให้ใช้
                1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ
                2.สำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ที่ทางราชกาออกให้ หรือ
                3. สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  หรือ
                4. สำเนาหนังสือเดินทาง
            กรณีผู้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ให้ใช้หนังสือรับรองนิติบุคคล ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน โดยมีคำรับรองของผู้มีอำนาจให้คำรับรองตามกฎหมายไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง
   - กรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน
                  1. กรณีการตั้งตัวแทน  หรือมอบอำนาจได้กระทำในประเทศไทย ให้แนบ
                     1.1    สำเนาหนังสือตั้งตัวแทน หรือหนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18)
                     1.2    สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  หรือสำเนาบัตรประตัวอื่นๆ ของตัวแทนที่ทางราชการออกให้   หรือหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับปัจจุบันที่ออกไม่เกิน   6 เดือน  ของนิติบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนแล้วแต่กรณี
                     1.3    ถ้าผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมิได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ให้แนบสำเนาหนังสือเดินทางหรือสำเนาหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่าในขณะตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจ ผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริง          
                     1.4 ต้องยื่น แบบ ก.06 เข้าเป็นตัวแทนและต้องชำระค่าธรรมเนียม (ก่อนจดฯ 100.-บาท,  หลังจดฯ 200.-บาท)
                  2.  กรณีการตั้งตัวแทน  หรือมอบอำนาจได้กระทำในต่างประเทศไทย ให้แนบ
                      2.1  สำเนาหนังสือตั้งตัวแทน หรือหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำรับรองโดยหนังสือดังกล่าวต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่  ณ ประเทศที่ผู้ตั้งตัวแทนหรือผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่  หรือเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือมีคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจให้รับรองลายมือชื่อ
                     2.2  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นๆ ของตัวแทนที่ทางราชการออกให้  หรือหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับปัจจุบันที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของนิติบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนแล้วแต่กรณี
     -  หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน (กรณีโอนเครื่องหมายที่จดทะเบียนแล้ว)
       1.3 ค่าธรรมเนียม คำขอละ 1,000.- บาท

14. ถาม เครื่องหมายการค้าที่มีรูปคนปรากฏอยู่โดยได้ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว  ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้เสียชีวิตไปแล้ว  ผู้ขอจดทะเบียน ไม่สามารถขอความยินยอมให้ใช้รูปผู้ตายเป็นเครื่องหมายการค้าจากทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมดทุกคนได้  เนื่องจากแต่ละคนมีที่อยู่อาศัย  หรือมีภูมิลำเนาต่างกัน  เช่น        อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น  และการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ไม่เคยมีทายาทผู้ใดทักท้วง  ผู้ขอฯ จะต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบ   ให้ผู้ขอฯ  ดำเนินการให้ทายาททุกคนที่อยู่ในประเทศไทย มีหนังสือถึงนายทะเบียน  โดยระบุว่า
       - รูปบุคคลในเครื่องหมายหมายการค้าเป็นใคร  เกี่ยวข้องกับทายาทอย่างไร  เช่น  บุพการี  เป็นต้น
       - แจ้งเหตุผล  และยืนยันว่าทายาทที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ มีเหตุขัดข้องอย่างไร  เช่น  อยู่ต่างประเทศไม่สามารถติดต่อได้ เป็นต้น
       -  ยืนยันว่าตนยินยอมให้บุคคลในรูปเป็นเครื่องหมายการค้าได้

 15. ถาม  หากเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้   นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน ตามมาตรา 7   และมาตรา 13  ผู้ขอฯ ควรจะดำเนินการอย่างไร  หากจะใช้สิทธิอุทธรณ์เอกสารที่จะต้องจัดเตรียม   เพื่อใช้ประกอบการพิจารณามีอะไรบ้าง  และต้องเสียค่าธรรมเนียมเท่าใด
ตอบ   กรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน ตามมาตรา 7 และมาตรา 13  นั้น  ไม่ถือว่าเป็น คำสั่งเด็ดขาด  ผู้ขอสามารถดำเนินการได้ ดังนี้
            1. ให้ผู้ขอฯ ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาใหม่
                -  กรณีสั่งมาตรา 7 ผู้ขอฯ อาจเพิ่มเติมเครื่องหมายการค้าให้มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือคิดค้นเครื่องหมายใหม่
                -   กรณีสั่งมารตา 13 ให้คิดค้นเครื่องหมายและนำมายื่นขอจดฯ ใหม่  หรืออุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
            2. การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ  พร้อมชำระค่าธรรมเนียม 2,000.- บาท  โดยแสดงเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอฯ มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนอย่างไร  และนำส่งหลักฐานประกอบการพิจารณา  เช่น  สำเนาใบเสร็จการจำหน่ายสินค้า,  ค่าโฆษณา  สำเนาใบสั่งจ้างทำของ  สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า  สำเนาอนุญาตตั้งโรงงาน  หลักฐานการโฆษณาในสื่อต่างๆ     เป็นต้น

16. ถาม  ชื่อภาพยนต์สามารถนำมาจดเครื่องหมายการค้าได้หรือไม่
ตอบ   การที่ผู้ขอฯ ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อภาพยนต์  ต้องพิจารณา ดังนี้
         - พิจารณา มาตรา 7 ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่
         -  ถ้าเครื่องหมายมีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว  ในสารบบไม่มีผู้ใดยื่นชื่อภาพยนต์ ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าก็สามารถรับจดทะเบียนได้  โดยให้ผู้ขอส่งหนังสือยืนยันว่าตนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจริง

17. ถาม   บทลงโทษการละเมิดเครื่องหมายการค้า มีอะไรบ้าง
 ตอบ   บทลงโทษการละเมิดเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มีดังนี้
         -  มาตรา 108 บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า  เครื่องหมายบริการ  เครื่องหมายรับรอง  หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี  หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
         -  มาตรา 109 บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า  เครื่องหมายบริการ  เครื่องหมายรับรอง  หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า  เครื่องหมายบริการ  เครื่องหมายรับรอง  หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี  หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
         -  ในกรณีเครื่องหมายการค้ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน  ไม่ถือว่า  เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า

18. ถาม เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย (WELL-KNOWN  MARKS)  มีลักษณะอย่างไร  มีการกำหนดเวลาไว้หรือไม่  และมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร  ในการรับแจ้งเพื่อให้คณะกรรมการเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปรับแจ้ง
ตอบ    เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป  ไม่มีคำนิยามหรือคำจำกัดความไว้โดยชัดเจน  แม้ในตัวพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าในปัจจุบันก็มิได้ให้คำนิยามหรือความหมายไว้  การกำหนดคำนิยามหรือความหมายให้เป็นที่ยอมรับกันจึงเป็นเรื่องยาก  อย่างไรก็ตาม  ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก  “WTO”  จึงมีพันธะกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (TRIPS)  ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้พอสรุปได้ว่าบรรดาประเทศสมาชิกตกลงไม่รับจดทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป  เกณฑ์การพิจารณาจึงเป็นไปตามข้อตกลงทริปส์
              สำหรับประเทศไทย เรามีเกณฑ์ในการพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปโดยยึดหลักของสากล คือ  TRIPS และ  WTO  คือเอาการรู้จักของสาธารณชนทั่วไป  หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้อง  หรือการยอมรับความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายนั้นในหมู่ผู้บริโภค
               นอกจากนี้  เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมิได้หมายถึงเฉพาะ เครื่องหมายการค้า  หรือเครื่องหมายบริการเท่านั้น  ยังมีเครื่องหมายอื่นๆ  เช่น  เครื่องหมายสโมสรฟุตบอล  เครื่องหมายขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชน  รัฐบาล  และรัฐวิสาหกิจ  ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป          ไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ความคุ้มครองตราบใดที่ยังใช้เครื่องหมายนั้นอยู่ประการสำคัญ  เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายโดยทั่วไปนี้  ถ้าเป็นเครื่องหมายการค้า  หรือเครื่องหมายบริการ  จะได้รับความคุ้มครองทุกจำพวกสินค้า  และบริการ  แม้มิได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม ได้สิทธิในการคุ้มครองมาก
               สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร  เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงฯ  จึงจะได้รับแจ้งขึ้น  ทะเบียนเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายฯ  ของกรมฯ  โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป
              หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมี ดังนี้
                1. ระดับการรับรู้หรือการยอมรับในเครื่องหมายนั้นของสาธารณชนทั่วไป หรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้อง
                2. ระดับความบ่งเฉพาะที่มีอยู่ในตัวเอง และความบ่งเฉพาะอันเกิดจากการใช้เครื่องหมาย
                3. ระยะเวลา ขอบเขต และเขตพื้นที่ของการจดทะเบียนภายในประเทศ และในต่างประเทศ
                4. ระยะเวลา ขอบเขต และเขตพื้นที่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์
                5. ระยะเวลา ขอบเขต และเขตพื้นที่การตลาดภายในประเทศ และในต่างประเทศ
                6. ระยะเวลา ขอบเขต และเขตพื้นที่การใช้เครื่องหมายโดยวิธีอื่นภายในประเทศ และในต่างประเทศ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต
                7. อื่นๆ
                  - ประวัติความสำเร็จในการบังคับใช้สิทธิในเครื่องหมายนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอบเขตที่เครื่องหมายนั้นเคยได้รับการยอมรับเป็นเครื่องหมายที่มีเชื่อแพร่หลายทั่วไปมาก่อนแล้ว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
                  - มูลค่าของเครื่องหมายนั้น
                  - การรักษาชื่อเสียงของเครื่องหมายนั้น
                  - ผลการสำรวจความนิยมของผู้บริโภคต่อเครื่องหมายนั้นโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือ
             โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ที่นำส่งเข้ามาว่า  เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว  หรือไม่ มีหลักเกณฑ์การตัดสินโดยใช้เสียงข้างมากของคณะกรรมการฯ  และต้องมีคะแนน  ไม่ต่ำกว่า 80% ในแต่ละเครื่องหมาย
             กรณีเครื่องหมายที่ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว  เจ้าของเครื่องหมายสามารถยื่นขอแจ้งเข้ามาให้พิจารณาใหม่ได้อีกถ้ามีหลักฐานเพียงพอ
             อย่างไรก็ตามสิทธิในทางกฎหมายของเครื่องหมายดังกล่าวยังคงมีตามกฎหมายฯ

19. ถาม   หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายรูปร่างรูปทรงของวัตถุมีอย่างไร  และยกตัวอย่างเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว
ตอบ    จริงๆ แล้วผู้ขอจดทะเบียนต้องการให้คุ้มครองตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้นเอง   เครื่องหมายดังกล่าวต้องแสดงให้เห็นด้านกว้าง  ด้านยาว  ด้านลึกโดยชัดเจน  ซึ่งโดยหลักแล้ว ตัวสินค้าและภาชนะบรรจุสินค้า  ไม่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นเครื่องหมายการค้าได้  จะต้องมีตราหรือใบฉลากประทับอยู่บนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จึงจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าต่างรายกันได้  และสามารถบอกแหล่งที่มาของสินค้าได้  อย่างไรก็ตาม  ประเทศไทยในฐานะที่เป็น สมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)  มีพันธะกรณีที่จะต้องออกกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า  (ข้อตกลง TRIPS)  จึงมีบทบัญญัติในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายที่เป็นรูปร่างรูปทรงของวัตถุ
           ลักษณะของเครื่องหมายที่เป็นรูปร่างรูปทรงของวัตถุที่สามารถรับจดทะเบียนได้  ต้องมีลักษณะดังนี้
            1. มีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 4
            2. มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 คือมีลักษณะที่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้า/บริการของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า/บริการต่างรายได้ (ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายการค้าได้)
เครื่องหมายที่เป็นรูปร่างรูปทรงของวัตถุที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ  หากได้มีการใช้กับสินค้าหรือบริการ  และได้มีการจำหน่ายเผยแพร่  หรือโฆษณาสินค้าหรือบริการจนเป็นที่แพร่หลาย  และสามารถทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าหรือบริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าและบริการที่ใช้เครื่องหมายดังกล่าวแตกต่างจากสินค้าหรือบริการของบุคคลอื่น  ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ  วิธีการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการจำหน่ายหรือโฆษณา   ให้อนุโลมใช้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์  เรื่องการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรค 3  แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า  พ.ศ. 2534  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543
            3.  ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8  และไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
                 3.1 เกิดจากธรรมชาติของสินค้านั้นเอง  เช่น สินค้าเป็นไข่ไก่ก็ทำกล่องหรือภาชนะบรรจุที่ใช้ใส่ไข่ ให้มีรูปทรงของไข่อยู่ภายในกล่อง  รูปทรงของไขนี้ถือว่าเป็นลักษณะธรรมดา  หรือโดยธรรมชาติของตัวไข่  ไม่สมควรที่จะให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว  เพราะไข่เป็นสินค้าที่เปราะบางและแตกง่าย  การทำหีบห่อหรือภาชนะบรรจุจึงต้องทำออกมาในรูปทรงของไข่แต่ละใบ  ให้มีลักษณะเป็นรูปโค้งมนของไข่  ดังนั้นรูปทรงของภาชนะดังกล่าวจึงไม่ควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเครื่องหมายการค้า  เพราะไม่สามารถบ่งชี้ถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า  หรือความเป็นเจ้าของสินค้าได้
                 3.2 เกิดจากความจำเป็นทางเทคนิค  หรือแสดงหน้าที่การใช้งานโดยเฉพาะ  (NONFUNCTIONAL)  เช่น  ลักษณะคอห่านของเครื่องสุขภัณฑ์  ไม่อาจจดทะเบียนรูปทรงคอห่าน  สำหรับสินค้าดังกล่าวได้  เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ทุกรายจำต้องผลิตสินค้าดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นคอห่าน  การให้ความคุ้มครองรูปคอห่านในฐานะเครื่องหมายการค้าจึงไม่ควรเกิดขึ้น  เพราะจะเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้
                 3.3  เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่ให้คุณค่าที่สำคัญแก่สินค้าจนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินค้า  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  มีลักษณะที่ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น  เช่น  รูปร่างหรือรูปทรงส่วนหัวของเครื่องโกนหนวด  ซึ่งประกอบด้วยใบมีดในลักษณะ 3 หัวเรียงกันในรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว  หน้าที่หลักของรูปร่างรูปทรงดังกล่าวก็คือ  การโกนหนวด  ลักษณะของรูปเครื่องโกนหนวด 3 หัว  เป็นรูปทรงที่ให้คุณค่าสำคัญแก่สินค้า  หรือทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น
(คุณลักษณะทั้งสามประการข้างต้นเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการแก้ปัญหาการให้ความคุ้มครองคาบเกี่ยวกัน  โดยกฎหมายเครื่องหมายการค้า  กฎหมายสิทธิบัตร  กฎหมายลิขสิทธิ์  และเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลใด  นำเอารูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุดังกล่าวไปใช้เพื่อแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม)
                 3.4 ไม่มีลักษณะเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามมาตรา 13
                       กรณีตัวอย่างเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนในเรื่องนี้ได้แก่  เครื่องหมายรูปปากกา และไฟแช๊ก เป็นต้น

20. ถาม  เครื่องหมายที่เป็นกลุ่มของสีต้องมีลักษณะอย่างไรจึงจะรับจดทะเบียนได้  กลุ่มของสีที่มีลักษณะต้องห้ามมีลักษณะอย่างไร  และนายทะเบียนจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณารับจดทะเบียนอย่างไร
ตอบ  เครื่องหมายกลุ่มของสีเป็นเรื่องใหม่  เช่นเดียวกับเครื่องหมายที่เป็นรูปร่างรูปทรงของวัตถุ  ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)  มีพันธะกรณีที่จะต้องออกกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า  (ข้อตกลง TRIPS)  ต้องให้ความคุ้มครองด้วย
            เครื่องหมายกลุ่มสี  จริงๆ แล้วไม่มีรูปแบบที่แน่นอน  ไม่สามารถกำหนดรูปแบบได้  และจะ ต้องเป็นกลุ่มสีอย่างเดียว  ประการสำคัญ ต้องไม่มีเครื่องหมายอื่นๆ มาประกอบ  เพราะมิฉะนั้นจะเหมือนกับเครื่องหมายที่เป็นสีธรรมดาทั่วๆ ไป  ในต่างประเทศเครื่องหมายสีเดียวสามารถจดทะเบียนได้  แต่ต้องมีการไล่เฉดสีจนมีลักษณะเฉพาะ
            สำหรับไทยเรามีหลักเกณฑ์ ตาม  ระเบียบกรมทรัพย์สินทางปัญญา  โดยสรุป กลุ่มของสีจะต้องมีสีที่รวมกลุ่มกันตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป  และต้องแสดงในลักษณะพิเศษ  ในคำขอจดทะเบียน  จะต้องมีคำพรรณนา ถึงลักษณะสีที่ใช้เป็นเครื่องหมาย  นอกจากนี้  ผู้ขอจะต้องยื่นหนังสือรับรองการจำกัด สีตามรูปเครื่องหมาย  (ก.12) ประกอบด้วย

21. ถาม  การประกาศโฆษณาปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้จากที่ใดบ้าง
ตอบ  สามารถตรวจสอบได้จากสถานที่ดังต่อไปนี้
       (1) ห้องสมุดแห่งชาติ
       (2) ห้องสมุดประชาชน
       (3) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
       (4) ทาง Internet

22. ถาม การแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง และเหตุใดจึงไม่ให้ยื่นคำขอที่ชั้น 3 แต่ให้มายื่นคำขอที่ชั้น 8 แทน
ตอบ   ผู้ขอแจ้งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องยื่นคำขอแจ้งพร้อมหลักฐานแสดงการจำหน่าย หรือการใช้หรือการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้น หรือการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใดๆ อย่างแพร่หลาย เช่น แคตตาล็อกสินค้า  ใบแจ้งการนำเข้าและส่งออก ใบกำกับภาษี เอกสารที่แสดงกิจกรรมทางการตลาด เช่น การโฆษณา   การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการค้าส่งและค้าปลีก  หรือหลักฐานที่แสดงถึงการรักษาชื่อเสียงในเครื่องหมายนั้น  เป็นต้น  เนื่องจากเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องยื่นพร้อมหลักฐานแสดงความมีชื่อเสียงแพร่หลายของเครื่องหมายนั้น  หรือขอผ่อนผันการนำส่งหลักฐานภายใน 60 วัน   ที่ต้องใช้หลักฐานประกอบในการพิจารณาจำนวนมาก ซึ่งชั้น 3 ไม่อาจตรวจสอบได้ทั้งหมดและอาจไม่เข้าใจการนำส่งหรือการขอผ่อนผันการนำส่งหลักฐานแสดงความมีชื่อเสียงแพร่หลาย จึงให้มายื่นคำขอที่ชั้น 8 แทนเพื่อที่จะได้ตรวจพิจารณาหลักฐาน และหากมีข้อขัดข้องอย่างไรจะได้แจ้งหรืออธิบายให้ผู้ยื่นคำขอได้ทราบ

23. ถาม กรณีมีคำวินิจฉัยคัดค้านและต่อมาผู้คัดค้านประสงค์จะขอถอนคำคัดค้านนั้น  การถอนดังกล่าวจะทำได้หรือไม่ และคำวินิจฉัยจะมีผลบังคับต่อไปได้หรือไม่
ตอบ    ในกรณีที่ผู้คัดค้านประสงค์จะถอนคำคัดค้านนั้น สามารถกระทำได้แต่ต้องขอถอนก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยเท่านั้น หากยื่นขอถอนการคัดค้านหลังจากที่มีคำวินิจฉัยแล้ว นายทะเบียนจะไม่รับพิจารณาคำร้องขอ   ถอนการคัดค้านนั้น เพราะถือว่าเลยขั้นตอนไปแล้วและถือว่าคำวินิจฉัยนั้นมีผลบังคับ  หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม มาตรา 37 วรรคสอง

24. ถาม  ในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผู้ใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์
ตอบ  ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็    คือ ผู้ผลิตสินค้า และ ผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวกับสินค้านั้นซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว นอกจากนี้ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ด้วย  เพราะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าหรือบริการที่ได้มาตรฐานและมี คุณภาพ

25. ถาม  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  ถ้าได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ 2546 แล้ว ผลของการคุ้มครองนี้จะคุ้มครองในต่างประเทศด้วยหรือไม่
ตอบ  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะในประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น

26. ถาม ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอสองรายใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าต่างกันในสินค้าอย่างเดียวกัน    เช่นเยลลี่ แต่มีรูปผลไม้ที่มีลักษณะเหมือนกัน ในกรณีนี้ไม่ทราบว่านายทะเบียนจะรับจดทะเบียนหรือไม่ (ดังรูปภาพ)
             trend-pic3.jpg




ตอบ
    ในกรณีนี้นายทะเบียนไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้เพราะถือว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าว
เหมือนหรือคล้ายกัน แม้ผู้ขอจดทะเบียนจะสละสิทธิในบางส่วนของเครื่องหมายการค้าเช่น ผู้ขอจดทะเบียนไม่ขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้รูปผลไม้ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าก็ตาม นายทะเบียนก็จะปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 13 หรือ มาตรา 16  แล้วแต่กรณี เพราะถือว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเหนิดของสินค้า

27. ถาม อยากทราบความหมายของคำว่า    “รูป รอยประดิษฐ์”    และ รูป รอยประดิษฐ์นั้นสามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้หรือไม่
ตอบ    คำว่า “รูป รอยประดิษฐ์”  ไม่มีการการกำหนดคำนิยามเอาไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272   ก็ไม่ได้กำหนดความหมายไว้   แต่มีการกำหนดเอาไว้ว่า ผู้ใดเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หรือ หีบห่อ  เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย   คำว่า รูป รอยประดิษฐ์ หมายถึง การออกแบบตัวเครื่องหมายการค้า หีบห่อ การจัดแต่งหรือการวางตัวอักษร หรือแม้แต่สีสันของเครื่องหมายการค้า   รูป รอยประดิษฐ์นั้นหากมีลักษณะที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายก็สามารถนำมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้
        
28. ถาม การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเดียวกับบุกคลอื่นที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ถ้าผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนรายหลังได้มีการใช้ โฆษณา และจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมานานแล้วแต่ไม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้
        1) จะยื่นขอจดทะเบียนตาม มาตรา 27 ได้หรือไม่
        2) หากยื่นจดทะเบียนได้ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง
ตอบ   ในกรณีที่มีผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของ บุคคลอื่นที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว  ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างคนต่างใช้มาด้วยกันโดยความสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเห็นสมควรรับจดทะเบียน   นายทะเบียนก็อาจรับจดทะเบียนสำหรับผู้ขอจดทะเบียนรายหลังได้  แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีหลักฐานที่แสดงให้นายทะเบียนเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับจดทะเบียนได้ เช่น  หลักฐานการใช้เครื่องหมายการค้า   การจำหน่ายสินค้า  การกระจายสินค้าไปตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการโฆษณา  ซึ่งต้องดูจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป

29. ถาม เจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศได้ตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าของตนในประเทศไทย   ต่อมาตัวแทนดังกล่าวได้นำเครื่องหมายการค้านั้นมายื่นขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของในประเทศไทยและได้รับการจดทะเบียน    ต่อมาอีก 5 ปี เจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศได้เปลี่ยนตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย     โดยตั้งตัวแทนใหม่ขึ้นมาขอถามว่า
     (1) ในกรณีที่ตัวแทนใหม่ได้นำสินค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย     จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าหรือไม่ เพราะตัวแทนเดิมได้ยื่นจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว
     (2) ใครเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากันระหว่าง เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศกับตัวแทนเดิมที่ยื่นจดทะเบียนเป็นเจ้าของในประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีแล้ว
ตอบ  (1)  ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักรเท่านั้น    ดังนั้นจึงต้องถือว่าตัวแทนที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้น สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้  การที่ตัวแทนใหม่ได้นำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย   โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ตัวแทนเดิม จึงถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าเนื่องจากตัวแทนใหม่นั้น ไม่ใช้เจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย
       (2) ตัวแทนที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเอาไว้ในประเทศไทยย่อมเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในต่างประเทศ     เว้นแต่เจ้าของเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศจะร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ภายใน 5 ปี โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าตัวแทนที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า

30. ถาม กรณีห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ได้มีการวางสินค้าหลายอย่างที่มีลักษณะการวางรูปแบบของ ฉลากสินค้า  หีบห่อที่บรรจุสินค้า รวมทั้งคำหรือข้อความที่เป็นสาระสำคัญ  เหมือนกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว    ต่างกันเพียงชื่อของเครื่องหมายการค้าเท่านั้น  เช่น เกลือปรุงทิพย์  โดยสินค้าของห้างสรรพสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน จะใช้ชื่อของห้างสรรพสินค้าดังกล่าวแทน   เช่นนี้ถือว่ามีเจตนาที่จะทำให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ และจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าหรือไม่   และมีวิธีใดบ้างที่ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้วได้รับความคุ้มครองทั้งหมด เช่น ชื่อ  ฉลาก สี  การวางรูป
ตอบ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าได้ให้ความคุ้มครองเฉพาะตัวเครื่องหมายการค้าที่ได้  จดทะเบียนไว้เท่านั้น   แต่ไม่ได้ให้ความคุ้มครองถึงส่วนอื่นๆ ของสินค้า เช่น การวางรูปแบบของฉลากสินค้า หีบห่อที่บรรจุสินค้าหรือ คำบรรยายสินค้า  ถ้าได้ยื่นขอจดทะเบียน นายทะเบียนก็จะมีคำสั่งให้สละสิทธิที่จะไม่ถือเป็นสิทธิของผู้ขอจดทะเบียนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้า ดังนั้นเมื่อชื่อเครื่องหมายมีความแตกต่างกันชัดเจนจึงไม่ถือว่ามีเจตนาที่จะทำให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าและไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า  แต่ในบางประเทศนั้นมีการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในภาพรวม เช่น ให้ความคุ้มครองทั้งฉลากของสินค้า    ถ้ามีบุคคลอื่นมาใช้เครื่องหมายการค้า หรือฉลากสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันแม้จะใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าต่างกันก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย

31. ถาม   กรณีนิติบุคคล เช่น บริษัท เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ต้องการโอนเครื่องหมายการค้าให้บุคคลอื่น แต่บริษัทนั้นได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว กรณีนี้บริษัทสามารถโอนเครื่องหมายการค้าให้กับบุคคลอื่นได้หรือไม่ และถ้าบริษัทไม่สามารถโอนเครื่องหมายการค้าให้กับบุคคลอื่นได้แล้ว จะมีวิธีปฏิบัติหรือแนวทางแก้ไขอย่างไร
ตอบ   ในกรณีที่บริษัทได้จดทะเบียนเลิกและเสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้ว ตามกฎหมายย่อมถือว่าบริษัทดังกล่าวสิ้นสภาพบุคคลตามกฎหมายแล้วจึงไม่อาจที่จะทำการโอนเครื่องหมายการค้าให้แก่บุคคลใดได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ยังไม่เสร็จการชำระบัญชี บริษัทก็สามารถที่จะทำการโอนเครื่องหมายการค้าได้โดยผู้ชำระบัญชีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท      แนวทางแก้ไขกรณีที่เสร็จสิ้นการชำระบัญชีแล้วแต่ไม่ได้มีการโอนเครื่องหมายการค้า คือให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีร่วมกันยื่นคำขอโอนเครื่องหมายการค้าโดยแนบรายงานการประชุมเสร็จสิ้นการชำระบัญชีที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หรือกรณีที่การชำระบัญชีไม่มีการระบุถึงการโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ก็อาจต้องใช้สิทธิทางศาล โดยเสนอคดีของตนต่อศาลเพื่อให้มีการจัดการโอนเครื่องหมายการค้านั้น  แต่กรณีนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นคงต้องรอดูแนวคำพิพากษาของศาลต่อไป

32. ถาม ในกรณีที่เครื่องหมายหมดอายุ (ม.56) โดยที่เจ้าของไม่ได้มาดำเนินการต่ออายุแล้วมีรายใหม่ยื่นเข้ามา ต่อมาเจ้าของเดิมยื่นเข้ามาด้วย อยากทราบว่านายทะเบียน
                    1) จะมีหลักเกณฑ์พิจารณาให้สิทธิเครื่องหมายอย่างไร
                    2) ระยะเวลานับจากที่เจ้าของเดิมหมดอายุจนถึงวันที่มายื่นใหม่มีผลต่อการพิจารณาอย่างไร
 ตอบ   1) การที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้ยื่นต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามกฎหมายถือว่าเครื่องหมายการนั้นถูกเพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว แต่การถูกเพิกถอนก็มีผลแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าเท่านั้น  หาได้เป็นการตัดสิทธิเจ้าของที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไป และเจ้าของก็มีสิทธิที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนเข้ามาใหม่ได้
            ถ้าในระหว่างที่เครื่องหมายการค้านั้นไม่ได้ต่ออายุและถูกเพิกถอน หากมีผู้อื่นนำเครื่องหมายการค้านั้นมาขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของและเจ้าของเดิมก็ยื่นเข้ามาใหม่ในภายหลังมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนการพิจารณาดังนี้
            (ก) ถ้าเป็นคำขอจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งสองฝ่าย นายทะเบียนจะสั่งให้คู่กรณีทำความตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 24  และหากตกลงกันไม่ได้ นายทะเบียนจะสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนที่ยื่นไว้เป็นรายแรก คือ คำขอจดทะเบียนของผู้ยื่นตาม มาตรา 25
            เมื่อได้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนที่ยื่นไว้เป็นรายแรกแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนภายหลังจะต้องใช้สิทธิคัดค้านต่อนายทะเบียนตาม มาตรา 35   ซึ่งหากผลการคัดค้านได้มีคำวินิจฉัยของนายทะเบียนถึงที่สุด หรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการถึงที่สุด หรือมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าใครมีสิทธิดีกว่า นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้แก่ผู้ขอจดทะเบียนรายนั้น
            (ข) ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาภายหลังจากที่ผู้อื่นแย่งยื่นเข้ามาและนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ไปแล้วเช่นนี้หากผู้ขอจดทะเบียนเดิมพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าตนยังใช้เครื่องหมายการค้าประกอบกิจการค้าขายอยู่ตลอดนับแต่วันที่เครื่องหมายการค้านั้นถูกเพิกถอน ศาลอาจพิพากษาให้เจ้าของเดิมนั้นมีสิทธิดีกว่าผู้แย่งยื่นได้
            ถ้าหากไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนที่แย่งยื่น   นายทะเบียนอาจพิจารณาให้สิทธิรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่เจ้าของเดิมตาม มาตรา 27  เพราะถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษนายทะเบียนสมควรรับจดทะเบียนให้ได้ 
       2.) ระหว่างที่เครื่องหมายการค้านั้นไม่มีการต่ออายุ ย่อมถือว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนและไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า หากมีบุคคลอื่นให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยละเมิดเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ขาดต่ออายุไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลตาม มาตรา 46 เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าหรือเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวได้   ยกเว้นการฟ้องคดีเรื่องการลวงขายหากมีบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้านั้นมาจดทะเบียนเป็นเจ้าของ ถ้าภายในห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น  หากเจ้าของเดิมไม่ร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว เจ้าของเดิมย่อมหมดสิทธิที่จะให้เพิกถอนกรณีบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าของตนมาจดทะเบียนตามมาตรา 67

33. ถาม ในกรณีที่ซื้อของแท้มาจากต่างประเทศและนำมาขายในเมืองไทยโดยเปิดเผย ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากตัวแทนจำหน่ายในไทย จะมีความผิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ  ไม่มีความผิดแต่อย่างใดเพราะเป็นสินค้าที่แท้จริงมิได้เป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอมแม้จะนำมาจำหน่ายในประเทศไทยก็ไม่มีความผิดเพราะเมื่อเจ้าของได้จำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของตนไปแล้ว สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ย่อมระงับไปตั้งแต่ที่ได้ขายสินค้านั้นไป ดังนั้นผู้ซื้อจึงมีสิทธิที่จะจัดการอย่างใดๆ กับสินค้านั้นก็ได้ รวมทั้งอาจนำสินค้านั้นออกวางจำหน่ายแข่งขันกับเจ้าของได้ด้วย

34. ถาม  คำว่า “สัญญาอนุญาต”  คืออะไร
ตอบ สัญญาอนุญาต คือ การที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วทำการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้ โดยสัญญาอนุญาตต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนและในสัญญาอนุญาตก็ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าในการผลิตสินค้าของผู้ได้รับอนุญาตนั้นวัตถุดิบในการผลิตต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าก่อนนำไปผลิตเป็นสินค้าทุกครั้ง แต่ถ้ามีการกำหนดเงื่อนไขว่าผู้ได้รับอนุญาตจะต้องรับสินค้าจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปจำหน่ายเท่านั้น เช่นนี้เราไม่ถือว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่จะต้องมาจดทะเบียนสัญญาอนุญาตเพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทนจำหน่ายไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า

35. ถาม ในกรณีที่บริษัทแม่ในต่างประเทศต้องการให้บริษัทลูกในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกับบริษัทแม่จะต้องทำอย่างไรบ้าง และถ้าบริษัทแม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยได้ให้บริษัทลูกร่วมใช้เครื่องหมายการค้าด้วย กรณีนี้บริษัทแม่เท่านั้นใช่หรือไม่ที่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้แต่เพียงผู้เดียวในกรณีที่มีผู้ละเมิด
ตอบ กรณีดังกล่าวต้องจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า แต่เครื่องหมายการค้าที่จะจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้ได้นั้น ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยแล้วเท่านั้นและสัญญาอนุญาตก็ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากบริษัทแม่ในต่างประเทศประสงค์จะให้บริษัทลูกในประเทศไทยใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วยก็ต้องจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในประเทศไทย โดยสัญญาอนุญาตดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ
                ในกรณีที่มีการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าแล้วมีบุคคลภายนอกมาทำการละเมิดเครื่องหมายการค้านั้น    ถือว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ทำละเมิดได้   แม้เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะมิได้เป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนขณะที่เกิดการละเมิดเนื่องจากได้อนุญาตให้ผู้รับอนุญาตเป็นผู้ใช้อยู่ก็ตาม เนื่องจากกฎหมายถือว่าการใช้โดยผู้ได้รับอนุญาตดังกล่าวเป็นการใช้โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้า   นอกจากนี้ผู้ได้รับอนุญาตก็อาจเป็นผู้ที่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้หากได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดนั้นแต่ทั้งนี้ผู้ได้รับอนุญาตก็ควรที่จะขอให้ศาลเรียกเจ้าของเครื่องหมายการค้าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วย

36. ถาม  หลังได้รับจดทะเบียนแล้ว ทำไมเพิ่มรายการสินค้าไม่ได้ ทำไมจึงต้องยื่นจดทะเบียนใหม่สำหรับรายการสินค้าที่ต้องการเพิ่มด้วย
ตอบ  เหตุที่เพิ่มรายการสินค้าไม่ได้ เนื่องจากรายการสินค้านั้นมีผลต่อการตรวจสอบความเหมือนคล้ายของ เครื่องหมายการค้า เพราะก่อนที่เครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนได้ก็ต้องมีการตรวจสอบรายการสินค้า  ที่ขอจดทะเบียนควบคู่ไปพร้อมกับรูปเครื่องหมายการค้าด้วย  ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้นายทะเบียนรับจด     ทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ ของสินค้าหรือแหล่งกำเนิด หากเป็นการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือ   ต่างจำพวกกันที่นายทะเบียนเห็นว่ามีลักษณะอย่างเดียวกัน ดังนั้นหากเครื่องหมายการค้าได้รับการจดทะเบียนแล้วเจ้าของประสงค์จะเพิ่มรายการสินค้า ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่สำหรับรายการสินค้านั้นเพื่อที่จะได้รับ การตรวจสอบก่อนมีการรับจดทะเบียน

37. ถาม   การโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า เกิดขึ้นในกรณีใดบ้าง
ตอบ   อาจเกิดขึ้นได้ 3 กรณี ได้แก่
       1)  โดยความสมัครใจทำสัญญา เช่น การทำสัญญาซื้อขายระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้ากับบุคคลภายนอก
       2)  เมื่อเจ้าของเครื่องหมายการค้าถึงแก่ความตายเครื่องหมายการค้าจะตกเป็นมรดก  แก่ทายาท หรือ ผู้รับพินัยกรรม
       3)  การโอนโดยผลของการบังคับคดีตามกฎหมาย เช่น เครื่องหมายการค้าถูกบังคับขายทอดตลาดชำระหนี้

38. ถาม  เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้ว สามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้หรือไม่          
ตอบ  เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ถูกจำหน่ายไปแล้วก็สามารถนำมายื่นขอจดทะเบียนใหม่ได้ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด แต่เครื่องหมายการค้าหรือบริการที่ยื่นเข้ามาจะรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายดังกล่าวมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีที่เครื่องหมายการค้าถูก     จำหน่ายเพราะเจ้าของเดิมไม่ได้ต่ออายุ หากท่านนำเครื่องหมายการค้านั้นมายื่นขอจดทะเบียน ท่านอาจถูกเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมฟ้องร้องต่อศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ หากว่าเจ้าของเดิมยังคงใช้เครื่องหมายการค้านั้นในการประกอบธุรกิจการค้าอยู่

39. ถาม การรวมตัวกันเป็นคณะบุคคล เช่น กลุ่มแม่บ้าน สามารถนำเครื่องหมายการค้ามาจดทะเบียนได้หรือไม่
              1) หากจดได้จะจดในนามของใครระหว่าง
                   -จดทะเบียนในนามกลุ่มแม่บ้าน
                   -จดทะเบียนในนามประธานกลุ่ม
                   -จดทะเบียนในนามสมาชิกทุกคน
              2) เมื่อจดทะเบียนแล้วจะถือว่าใครเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าระหว่างกลุ่มแม่บ้าน   ประธานกลุ่ม หรือสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน(กรรมสิทธิ์ร่วม)
              3)   หากสมาชิกคนใดลาออกจากกลุ่มไปแล้วสมาชิกคนนั้นยังมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่

ตอบ  1) โดยหลักการแล้วผู้ที่จะจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าได้จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล แต่การรวมตัวเป็นคณะบุคคลของกลุ่มต่างๆนั้นตามกฎหมายไม่ถือว่ามีสภาพเป็นนิติบุคคล กรณีนี้เราจึงจดทะเบียนในนามกลุ่มแม่บ้านคงไม่ได้ แต่เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพและอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของกลุ่มจึงแนะนำให้จดทะเบียนโดยใช้ชื่อประธานกลุ่มเป็นผู้ขอจดทะเบียนแล้วใส่วงเล็บท้ายชื่อผู้ขอจดทะเบียนว่า   ในฐานะประธานกลุ่ม...  หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายร่วม    ซึ่งมีข้อกำหนดและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ค้อนข้างซับซ้อนมากกว่า
        2) ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าถือว่า ผู้ที่ยื่นจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า      ดังนั้น ถ้ายื่นจดทะเบียนโดยใช้ชื่อประธานกลุ่มก็ต้องถือว่าประธานกลุ่มเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งหากมีบุคคลอื่นมาละเมิดเครื่องหมายการค้า ประธานกลุ่มย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องร้องเอาผิดแก่ผู้ทำละเมิดได้       ทั้งนี้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของสมาชิกและสิทธิของความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในทางพฤตินัยนั้น   น่าจะคำนึงถึงข้อตกลงหรือสัญญาประชาคมในหมู่คณะเป็นสำคัญซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะต้องว่ากล่าวกันเอง
        3) การที่บางคนลาออกจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม  ผู้นั้นจะยังมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้น    หรือไม่คงต้องพิจารณาจากข้อกำหนดของกลุ่มว่ามีตกลงกันอย่างไร เช่น มีข้อตกลงกันว่าผู้ที่เป็นสมาชิกของ  กลุ่มเท่านั้นที่จะมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้     หากหมดสภาพของการเป็นสมาชิกย่อมไม่มีสิทธิที่จะใช้   เครื่องหมายการค้านั้น ซึ่งประธานและกรรมการบริหารของกลุ่มจะต้องดูแลให้เป็นไปตามข้อตกลงของกลุ่ม

40. ถาม การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศมีวิธีการอย่างไรบ้าง
ตอบ     การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย ถ้าเรามีสำนักงานหรือมีผู้แทนที่มีสถานที่อยู่ในประเทศที่เราต้องการจดทะเบียนก็จัดเตรียมคำขอไปยื่นขอจดทะเบียนได้แต่หลักเกณฑ์ในการพิจารณานั้นก็ต้องไปศึกษากฎหมายของประเทศนั้นๆ ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่ถ้าเราไม่มีสำนักงานหรือสถานที่ติดต่อในต่างประเทศก็อาจตั้งตัวแทนให้ดำเนินการแทนเราได้     วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ติดต่อสำนักงานตัวแทนรับจดทะเบียนในประเทศไทยที่มีสาขาหรือมี   connection ในต่างประเทศดำเนินการให้

41. ถาม Series Mark มีลักษณะอย่างไร
ตอบ    Series Mark คือ เครื่องหมายที่มีลักษณะเกือบจะเหมือนกันทั้งหมด มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น       แตกต่างกันในการวางตำแหน่งของคำบรรยายหรือชื่อของเจ้าของโดยเครื่องหมายหนึ่งอาจวางชื่อเอาไว้ด้านล่างของเครื่องหมายแต่อีกเครื่องหมายหนึ่งวางชื่อไว้ที่ด้านบนของเครื่องหมายนั้น กรณีเช่นนี้ ในบางประเทศสามารถจดเครื่องหมายเหล่านั้นอยู่ในคำขอเดียวกันได้ แต่ในประเทศไทยถ้าเครื่องหมายมีความแตกต่างกันก็ต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็นคำขอต่างหากจากกัน

42. ถาม Trade Dress คืออะไร
ตอบ   คือ การให้ความคุ้มครองเครื่องหมายในภาพรวม เช่น    การให้ความคุ้มครองทั้งฉลาก     หรือทั้งหีบห่อของสินค้านอกเหนือจากตัวเครื่องหมายการค้าเพียงลำพัง   นอกจากนี้ Trade Dress     อาจคุ้มครองถึงการจัดหน้าร้านหรือการตกแต่งสถานที่ให้บริการที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นที่จดจำของผู้บริโภค

43. ถาม ทำไมการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงใช้เวลานาน และในระหว่างที่ยื่นคำขอจดทะเบียนมีผู้มาทำละเมิดเครื่องหมายการค้า ผู้ยื่นขอจดทะเบียนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่
ตอบ  การยื่นจดทะเบียนนั้นต้องผ่านการตรวจสอบความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้าโดยเจ้าหน้าที่แล้วจึงส่งให้นายทะเบียนพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ เมื่อนายทะเบียนเห็นว่าควรรับจดทะเบียนก็จะมีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้นเป็นเวลาเก้าสิบวันหากไม่มีผู้คัดค้านจึงจะมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนได้     จากขั้นตอนดังกล่าวทำให้การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบตรวจสอบความเหมือนคล้ายก่อนรับจดทะเบียนเช่นเดียวกันแล้ว ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่พิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รวดเร็วมากประเทศหนึ่ง
         ในระหว่างที่ยื่นคำขอจดทะเบียนยังไม่ถือว่าเครื่องหมายการค้านั้นเป็นเครื่องหมายที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว  หากเกิดการละเมิดขึ้นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนก็ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าในการที่จะฟ้องร้องเรียก ค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดได้  เว้นแต่ในกรณีเรื่องการลวงขาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

44. ถาม  เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอใช้สิทธิตาม มาตรา 28 ที่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว
                1) ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องส่งหนังสือที่ยังไม่เคยถูกปฏิเสธหรือถอนคืนหรือละทิ้งคำขอมาก่อนหรือไม่
                2) กรณีที่ไม่ส่งหนังสือตาม ข้อ 1 จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 28 ได้หรือไม่
ตอบ    ผู้ขอจดทะเบียนต้องส่งหนังสือแสดงสถานะคำขอว่าเครื่องหมายการค้านั้นยังไม่ถูกเพิกถอน หากไม่ส่งนายทะเบียนก็จะไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิตาม มาตรา 28

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น